วันศุกร์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2552

มงคลเทพ:พระพิฆเนศ





ตำนานกำเนิดพระพิฆเนศวร
คัมภีร์ปราณะได้บันทึกไว้ช่วงหลังพุทธศตวรรษที่ 1 กล่าวถึงการกำเนิดพระพิฆเนศในฐานะเทพ และโอรสของพระแม่อุมาเทวีกับพระศิวะเทพ โดยแต่ละตำนานได้กล่าวไว้แตกต่างกัน ดังนี้


ตำนานที่หนึ่ง ปราบอสูรและรากษส
เมื่ออสูรและรากษส ทำการบวงสรวงพระศิวะเพื่อขอพรต่อพระองค์จนได้รับพร สมประสงค์ ต่อเมื่อได้ใจกลับรุกรานเหล่าเทวดาให้ได้รับความเดือดร้อนไปทั่ว จนความถึงพระอินทร์จึงจำต้องพาเหล่าเทวดาทั่งหลายไปขอเข้าเฝ้าพระศิวะเจ้า เพื่อขอให้ทรงหนหนทางหรือผู้ที่จะปราบเหล่าอสูรและรากษสใจพาลเหล่านั้น เมื่อได้ฟังคำร้องทุกข์จากเหล่าเทวดาแล้ว พระศิวะจึงทรงแบ่งกายเป็นบุรุษรูปงามซึ่งจะไปถือกำเนิดในครรภ์ของพระอุมาเทวี เมื่อถึงเวลากำเนิดแล้ว พระองค์จึงทรงให้พระนามว่าพระวิฆเนศวรเพื่อทำหน้าที่ปราบอสูรและรากษสทั้งหลาย เมื่อเสร็จสิ้นการปราบอสูรแล้ว พระองค์จึงทรงมอบหมายให้พระวิฆเนศวรทรงเป็นผู้ขัดขวาง และป้องกันเหล่าผู้มีจิตใจพาลต่างๆ ที่จะมาขอพรจากพระศิวะเพื่อนำไปใช้ในทางที่ผิด รวมทึ้งเป็นผู้คัดสรรเหล่าเทวดาและมนุษย์ผู้ทำกรรมดีและช่วยเหลือให้ค้นพบกับความสำเร็จ จากการขอพรต่อพระสิวะต่อไป


ตำนานที่สอง พระปารวตี (พระแม่อุมาเทวี) ปั้นเหงื่อไหลให้เป็นพระบุตร

เมื่อคราวที่พระปารวตีสรงน้ำอยู่ในอุทยาน พระองค์ทรงนำเหงื่อไคลของพระองค์มาปั้นเป็นหุ่นเทวบุตรรูปงาม และทรงใช้เวทย์มนต์เพื่อให้หุ่นนั้นมีชีวิตขึ้นมา จากนั้นจึงทรงรับสั่งให้เทวบุตรออกไปเฝ้ายังด้านหน้าประตูทางเข้าอุทยาน โดยได้รับสั่งว่าห้ามมิให้ผู้ใดเข้ามาโดยเด็ดขาด เหตุการณ์เป็นเช่นนี้มาโดยตลอดทุกครั้งที่พระแม่อุมาทรงสรงน้ำ ณ อุทยานแห่งนี้ จนกระทั่งเมื่อถึงวันกำหนดเสด็จกลับของพระศิวะ และเมื่อทั้งสองพระองค์พบกันในคราแรกต่างก็จะเข้าไปในอุทยาน อีกฝ่ายก็ปกป้องมิให้ผู้ใดย่างกายเข้าในอุทยานได้ด้วยเทวบุตรทรงได้รับคำสั่งของพระอุมา ห้ามมิให้ผู้ใดล่วงละเมิดเข้าไปยังสถานที่สรงน้ำแห่งนี้ เมื่อเป็นดั่งนั้นพระศิวะจึงทรงสั่งให้บริวารเข้าต่อสู้และได้สังหารเทวบุตร (แต่ในบางคัมภีร์ก็ว่าพระศิวะทรงใช้ตรีศูลตัดเศียรเทวบุตรนั้น บ้างก็ว่าพระวิษณุทรงใช้จักรตัดเศียร)

เมื่อพระปารวตีทรงพบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พระองค์ทรงโกรธและโมโหพระสวามียิ่ง จนถึงกับทำศึกใหญ่ระหว่างทั้งสองพระองค์ ร้อนถึงพระฤาษีนารอด (นารท) ต้องออกรับหน้าเจรจาศึกในครานี้ โดยพระปราวตีได้กล่าวให้พระศิวะผู้สวามีต้องหาหนทางให้เทวบุตรฟื้นชีวิตจึงจะยอมสงบศึกให้

พระศิวะจึงทรงมีคำสั่งให้เทวดาผู้เป็นบริวารเดินทางไปทิศเหนือ และให้ตัดศรีษะของสิ่งมีชีวิตแรกที่พบเพื่อนำมาต่อให้กับเทวบุตรผู้เป็นโอรส ไม่นานนักเทวดาก็เดินทางกลับมาพร้อมกับนำเศียรช้าง (มีงาเดียว) เพื่อมาต่อให้พระโอรส ซึ่งต่อมาจึงทรงตั้งพระนามใหม่ คือ คชานนะ (มีหน้าเป็นช้าง) และเอกทันต (ผู้มีงาเดียว) เมื่อได้ชุบชีวิตฟื้นแล้วพระปราวตีจึงทรงเล่าเรื่องราวต่างๆ ให้ทั้งสองพระองค์ได้ฟังว่าทั้งสองพระองค์ทรงเป็นพระบิดาและพระโอรส ซึ่งฝ่ายโอรสได้ฟังดังนั้นถึงกลับหมอบกราบขออภัยโทษเพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของตน พระศิวะทรงพอพระทัยยิ่งนัก ถึงกับประทานพรให้พระโอรสให้เป็นผู้มีอำนาจเหนือเหล่าภูตผีทั้งปวง และทรงแต่งตั้งให้เป็น คณปติ ผู้เป็นใหญ่ในที่สุด


ตำนานที่สาม ขวางคนชั่วที่ต้องการล้างบาป ณ เทวาลัยโสมนาถ และเทวาลัยโสมีศวร

ตำนานกล่าวถึงว่าพระปารวตีได้ทรงนำน้ำที่ใช้ในการสรงน้ำมาผสมเหงื่อไคล ปั้นเป็นเทวบุตรรูปเป็นมนุษย์แต่มีเศียรเป็นช้าง จากนั้นจึงนำน้ำจากพระคงคามาประพรมเพื่อให้มีชีวิตขึ้นมา โดยมีพระประสงค์ให้ไปขัดขวางคนชั่วที่จะไปบูชาศิวลึงค์ เพราะหวังที่จะล้างบาปตนเอง ณ เทวาลัยโสมนาถ และเทวาลัยโสมีศวร เพื่อไม่ให้ตนตกขุมนรก

จากเรื่องเล่านี้ ทำให้ชาวฮินดูทั้งหลายนิยมนำรูปปั้นพระพิฆเนศมาจุ่มน้ำ ณ วัดคเนศจาตุรถี หรือบางครั้งก็จะนำเทวรูปเล็กๆ นำไปทิ้งตามแม่น้ำคงคาด้วยความเชื่อที่ว่า น้ำจากแม่น้ำคงคาจะทำให้พระคเณศมีชีวิตขึ้นมานั่นเอง


ตำนานที่สี่ พระกฤษณะอวตาร

เล่าไว้ว่าเมื่อครั้งพระปารวตียังไม่มีโอรส พระศิวะเทพผู้สวามีจึงให้คำแนะนำว่าให้จัดทำพิธีปันยากพรต (การบูชาพระวิษณุเทพในวันขึ้น 13 ค่ำ เดือนมาฆะ) โดยใช้เวลาในการทำพิธีตลอด 1 ปี ซึ่งหากทำโดยตลอดจนครบก็จะประสบความสำเร็จในการขอบุตร ซึ่งพระกฤษณะจะอวตารมาจุติ ต่อเมื่อทุกอย่างเป็นไปตามคำของพระศิวะเทพแล้ว เหล่าเทพเทวดาทั้งหลายก็ได้มาร่วมอวยพรกับการถือกำเนิดของพระโอรสพระองค์นี้ รวมถึงเทพศนิ (พระเสาร์) ก็เข้ามาร่วมพิธีอวยพรด้วย ซึ่งพระศนิพระองค์นี้มีเรื่องกล่าวไว้ว่า เมื่อพระองค์ทรงเพ่งมองสิ่งใดมักจะเกิดไฟเผาผลาญสิ่งนั้นๆ จนหมดสิ้นไป

ในคราวเข้าร่วมพิธีอวยพร พระศนิก็ทรงได้ชื่นชมพระโอรส จนเผลอตนเพ่งมองพระโอรสจนเศียรของพระกุมารหลุดกระเด็นไปยังโคโลก (ที่ประทับพระกฤษณะ) พระศิวะจึงมีบัญชาให้พระวิษณุออกตามหาเศียรพระโอรส แต่ก็ไม่ทรงพบต่อมาเมื่อผ่านแม่น้ำบุษปภัทร พระวิษณุทรงแลเห็นช้างนอนหันหัวไปทางทิศเหนือ จึงตัดเศียรช้างนั้นนำกลับมาต่อให้พระโอรส


ตำนานที่ห้า พระศิวะ-พระปารวตีแปลงเป็นช้าง
คราหนึ่งพระศิวะและพระปารวตีได้เสด็จไปยังภูเขาหิมาลัย ได้แลเห็นช้างกำลังสมสู่กัน จึงบังเกิดความใคร่ จากนั้นจึงทรงแปลงกายเป็นช้างและสมสู่กันจนเกิดพระโอรส นามพระพิฆเนศ


ตำนานที่หก พระวิษณุเทพ เปล่งวาจากสิทธิ์ในพิธีโสกันต์
จากที่พระศิวะและพระปารวตีทรงจัดพิธีโสกันต์ให้กับพระโอรสในพิธีฤกษ์คือ วันอังคารจึงได้แจ้งเชิญเทพทั้งหลายทั้งมวลมาเป็นสักขีพยาน แต่คงยังขาดเพียงองค์วิษณุเทพที่ทรงอยู่ระหว่างบรรทม จนเมื่อใกล้เวลาอันเป็นมงคล พระศิวะเทพจึงทรงให้พระอินทร์นำสังข์ไปเป่าเพื่อปลุกให้พระวิษณุเทพตื่นจากบรรทม เมื่อพระวิษณุเทพทรงตืนจากบรรทมด้วยเสียงดังของสังข์ จึงทำให้พระวิษณุเทพพลั่งโอษฐ์ออกไปว่า "ไอ้ลูกหัวขาดจะนอนให้สบายก็ไม่ได้" เพียงวาจานี้ถึงกลับทำให้เศียรของพระโอรสหายไปในทันที เหล่าเทพทั้งหลายเมื่อเห็นดังนี้แล้วจึงปรึกษากันว่า วันอังคารถือเป็นฤกษ์ไม่ดีขอห้ามทำพิธีการมงคลใดๆ ทั้งมวล กลับถึงเรื่อง พระเศียรของโอรสพระศิวะเทพจึงมีบัญชาให้พระวิษณุกรรมไปตัดหัวมนุษย์ที่เพิ่งสิ้นชีวิต ณ ทิศตะวันตก แล้วนำกลับมาโดยเร็ว แต่ในวันนั้นหาได้มีมนุษย์ผู้ใดสิ้นอายุขัยลง พระวิษณุกรรมแลเห็นเพียงช้างพลายงาเดียวเท่านั้นที่สิ้นชีวิตลง จึงตัดหัวช้างพลายตัวนั้นกลับมาถวายพระศิวะเทพ

ในช่วงเวลาที่ศาสนาพุทธกำลังเติบโตในอินเดีย มีเรื่องเล่ากล่าวในตอนนี้ว่า เมื่อเทวดานำหัวช้างมาต่อแต่ก็ยังไม่สามารถทำให้พระโอรสฟื้นชีวิตได้ พระศิวะเทพจึงต้องให้พระวิษณุเทพไปทูลเชิญเสด็จพระศิริมานนท์อรหันต์ ให้โปรดเสด็จมาสวดพระคาถาชินบัญชรจนสำเร็จทำให้พระโอรสฟื้นชีวิต

หรือบ้างก็กล่าวว่าในพิธีโสกัณต์ พระราหูได้เตือนพระศิวะแล้วว่าจะเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น จึงควรทูลเชิญเสด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้เข้าร่วมพิธีนี้ด้วย แต่พระศิวะเทพก็หารับฟังไม่ บ้างก็ว่าพระอังคารไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมพิธีจึงโกรธแค้น และได้ลอบตัดเศียรพระโอรสไปโยนทิ้งทะเล

ขอขอบคุณ - ชมรมพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์



วิธีการบูชาพระพิฆเนศอย่างถูกต้อง

การบูชาพระพิฆเนศ หากไม่สะดวกที่จะจัดเตรียมอย่างยิ่งใหญ่ ก็สามารถเตรียมแต่พอประมาณ เพื่อการสวดบูชาได้ทุกๆวัน ซึ่งหลักๆ แล้วมีสิ่งที่ต้องเตรียม เพื่อการบูชาพระพิฆเนศ ดังต่อไปนี้อุปกรณ์1. รูปภาพ หรือ เทวรูปพระพิฆเนศ ที่เราบูชาอยู่
2. ธูป หรือ กำยาน (อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทั้งสองอย่าง)ถ้าใช้กำยานแท่ง ให้ใช้ 1 อัน ใช้ได้ทุกกลิ่นถ้าใช้กำยานผง ให้ตักใส่โถตามความเหมาะสมถ้าใช้ธูป จะใช้กี่ดอกก็ได้...ขอย้ำว่ากี่ดอกก็ได้นะครับเพราะที่อินเดียจริงๆ แล้วไม่มีการกำหนดจำนวนธูปมาตั้งแต่โบราณ เนื่องจากเหตุผลที่จุดธูปก็คือ ต้องการถวายกลิ่นหอมแก่เทพ และ ให้ควันธูปเป็นสื่อนำคำอธิษฐานเราไปสู่เทพ เพราะฉะนั้น ถ้าอยากประหยัดก็ใช้ 1 ดอกก็ดีครับ ลดโลกร้อนด้วย มีคนไทยเท่านั้นที่ถือว่าธูป 1 ดอกคือการไหว้ศพ ชาวฮินดูเค้าหยิบออกมาจากซองได้มากี่ดอกก็จุดเลยครับ ไม่มีการนับ หรือถ้าจะให้สบายใจ ไหว้แบบคนไทยหรือจีน ก็ใช้ 3 ดอก 5 ดอก 9 ดอกครับ
3. กระถางธูป หรือ แท่นวางกำยานใส่ดิน หรือ ผงธูป ลงในกระถางธูปก่อนเพื่อให้สามารถปักธูปได้สำหรับแท่นวางกำยานก็มีขายหลายแบบ ส่วนใหญ่ทำจากกระเบื้องเซรามิก ดินเผา ทองเหลือง ฯลฯ หรือจะซื้อถ้วยเล็กๆ ตื้นๆ แบบที่ใส่พริกน้ำปลา มาใช้แทนก็ได้ครับ
4. ประทีป (ดวงไฟ เทียน ตะเกียงน้ำมัน การบูร)ใช้เป็นไฟส่องสว่าง ควรมี 2 ดวงซ้าย-ขวา หรือเทียน 2 เล่มถ้าใช้เทียน ก็ปักลงแท่นให้เรียบร้อยถ้าใช้ตะเกียงน้ำมัน ตรวจสอบน้ำมันให้มีเพียงพอ




เครื่องสังเวย
1. ดอกไม้ถวายได้ทุกพันธุ์ ยกเว้นพันธุ์เดียวคือดอกเยอบีร่า ควรเป็นดอกไม้สด จะร้อยเป็นพวง เป็นช่อ หรือดอกเดียวก็ได้ ให้ล้างทำความสะอาดก่อนถวาย


2. น้ำสะอาดอันนี้ต้องมี ขาดไม่ได้เด็ดขาดนะครับ ห้ามใช้น้ำจากขวดที่เราเคยเปิดกินมาแล้ว แนะนำให้จัดขวดน้ำแยกไว้เพื่อรินถวายเทพโดยเฉพาะ โดยเทใส่แก้วเล็กๆ ซึ่งแก้วน้ำนี้ก็ต้องเป็นแก้วที่จะใช้ถวายพระพิฆเนศโดยเฉพาะเช่นเดียวกัน
3. นมสด(หากจัดหาไม่ได้ จะถวายน้ำเปล่าอย่างเดียวก็ได้) นมที่ใช้ถวาย ควรเป็นนมสด (จืด) ที่ไม่ใช่รสดัดแปลง เช่น รสช็อคโกแล็ต รสสตรอเบอรี่ หรือนมเปรี้ยวดัดแปลงต่างๆก็ไม่ควรครับ แต่เราสามารถถวาย โยเกิร์ต ได้ โดยให้เลือกรสธรรมชาติ เนื่องจากโยเกิร์ต คือนมเปรี้ยวในแบบของฮินดู หากนมเป็นกล่อง สามารถเสียบหลอดไว้ได้ หรือถ้าจะให้ดีก็เทใส่แก้วเลยครับ
4. ผลไม้ผลไม้อะไรก็ใช้ถวายได้ ไม่ต้องแพงมากครับ ใช้ผลไม้ตามฤดูกาล สับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ก็ดี ผลไม้ที่แนะนำคือ กล้วย ส้ม สาลี่ และ มะพร้าวผ่าซีก ใส่ในถาดหรือจานสะอาด (ซื้อมาเป็นกิโลๆ แช่เย็นไว้แล้วแบ่งออกมาถวาย ก็เหมาะสมในเศรษฐกิจยุคนี้ครับ)
5. ขนมหวานห้ามใช้ขนมที่มีส่วนผสมของเนื้อสัตว์ (ประมาณว่าแซนวิชหมูหยองนี่ห้ามนะครับ) ควรเป็นขนมที่ทำจากแป้ง มีความหวาน มัน เน้นน้ำตาลและกะทิ จัดใส่ถาดหรือจานสะอาด ปัจจุบันอนุโลมให้มีส่วนผสมของไข่ได้ มิฉะนั้นจะหาขนมมาถวายยากมากๆ
***ห้ามถวายของคาว เช่น ข้าวผัดกระเพรา ก๋วยเตี๋ยว หัวหมู เป็ด ไก่ตอน ฯลฯ เพราะไม่เหมือนกับการเซ่นไหว้เจ้าแบบจีนนะครับ***จาน ถาด แก้วน้ำ ให้จัดไว้สำหรับบูชาเทพเท่านั้น ใช้เสร็จแล้วล้างให้สะอาด เก็บแยกไว้ ห้ามใช้ปะปนกับของคน***เครื่องสังเวยอื่นๆที่สามารถถวายได้ ได้แก่ พืชพรรณ ธัญญาหารต่างๆ ข้าวสาร ข้าวกล้อง เกลือ น้ำตาล เมล็ดพริกไทย เมล็ดถั่ว งาขาว งาดำ ใบชา เมล็ดกาแฟสด มะเขือ มะขวิด ใบกระเพรา ใบโหระพา เครื่องเทศต่างๆ ผักสดทุกชนิด และผลไม้ทุกชนิด




ขั้นตอนการบูชาเพื่อการสวดบูชาให้ได้ผลสูงสุด ควรเลือกเวลาที่เงียบสงัด เช่น เช้าตรู่ หรือ ก่อนนอน จะได้ไม่มีเสียงรบกวนจากผู้อื่น
1. นำของสังเวยทั้งหมด (น้ำ นม ผลไม้ ขนมหวาน) จัดวางไว้หน้าเทวรูป, รูปบูชา
2. ดอกไม้ ถ้าเป็นช่อหรือดอกเดียวให้วางไว้ข้างหน้า ถ้าร้อยเป็นพวง สามารถนำไปคล้องที่พระกรหรือศาสตราวุธของเทวรูปได้
3. จุดกำยาน ธูป ประทีป เทียน
4. การพนมมือ ให้พนมมือแบนราบติดกันนะครับ ไม่ใช่แบบดอกบัวตูม แล้วตั้งจิตให้สงบนิ่ง
5. เมื่อจิตสงบนิ่งแล้ว ให้ เริ่มสวดบูชา...การสวดมนต์นั้น ท่านสามารถเลือกบทสวด บทอัญเชิญ หรือบทสรรเสริญ บทใดก็ได้มาหนึ่งบท หรือจะสวดหลายๆ บท ให้ต่อเนื่องกันก็ยิ่งดีครับบทสวดมนต์ทั้งหลาย

ในเบื้องต้นสำหรับการบูชาพระพิฆเนศนั้น คาถาบูชาที่ส่วนใหญ่นิยมคือ โอม ศรี คะเนศา ยะนะมะฮา (Om Shri Ganesha Yanamaha)แต่ถ้ามีเวลาในการสวดบูชา แนะนำให้ทำสมาธิด้วยการสวดมนต์ โดยท่องวนไปเรื่อยๆ จะเป็น 108 จบก็ดี หรือจะเปิดเพลงขณะบูชาด้วยก็ดีครับ (สามารถโหลดเพลงได้ที่หน้าแรก) ควรศึกษาและจำบทสวดมนต์ให้ได้หลายๆ บท เพื่อประโยชน์ในการทำสมาธิขณะสวดมนต์ หรือการสักการะในโบสถ์ วัด เทวาลัยต่างๆ 6. ถวายไฟ หรือการทำ อารตี โดยใช้เทียน หรือ การบูรใส่ถาดแล้วจุดไฟ (หรือตะเกียงสำหรับทำอารตีโดยเฉพาะ)ยกขึ้นหมุนวนเป็นวงกลม (ตามเข็มนาฬิกา) 3 รอบ ต่อหน้าองค์เทวรูป หรือรูปภาพเทพที่เราบูชา แล้วใช้ฝ่ามืออังไฟ แล้วมาแต่ที่หน้าผากเพื่อให้เกิดความสว่างแก่จิตและดวงปัญญา หรือแตะบริเวณอื่นๆ ที่เป็นโรคเจ็บป่วย
7. ขอพรตามประสงค์จากนั้นให้กล่าวคำว่า "โอม ศานติ...ศานติ...ศานติ" เพื่อขอความสันติให้บังเกิด เป็นอันเสร็จสิ้น (หรืออ่านในหน้ารวมบทสวด)
8. ลาเครื่องสังเวยถ้าจุดเทียน สามารถเป่าเทียนให้ดับได้เลย เพื่อป้องกันอัคคีภัย (ใช้เทียนเล่มเดิมนี้ จุดบูชาในวันต่อไปได้เรื่อยๆ จนเทียนหมด)ถ้าจุดธูปหรือกำยาน ต้องรอให้หมดดอก จึงจะลาเครื่องสังเวยได้นำเครื่องสังเวยต่างๆ ยกขึ้นจรดหน้าผาก แล้วกล่าวว่า "โอม ปราสดัม ศิรสา กฤนาม"เพื่อขออนุญาตลาเครื่องสังเวย อย่าทิ้งอาหารไว้ให้เน่านะครับน้ำเปล่า - สามารถนำมาล้างหน้าหรือแต้มหน้าผากเพื่อเป็นสิริมงคลนมสด - ให้เททิ้งครับ ปล่อยไว้ค้างคืนจะทำให้นมบูด (บางคนดื่มแล้วท้องเสียครับ)ผลไม้และขนม - ยกออกมาใส่จาน เพื่อมาแบ่งกันทานในครอบครัว ถือเป็นอาหารทิพย์(ไม่ควรทานทั้งๆที่อยู่ในจานหรือถาดสำหรับถวาย เพราะห้ามใช้ปนกับของท่านนะครับ)
9. ทำความสะอาด จาน แก้วน้ำ เชิงเทียน แท่นกำยาน ฯลฯ แล้วเก็บไว้ในที่


การบูชาก็มีเพียงเท่านี้ ซึ่งเป็นการบูชาแบบกระชับ เลือกปฏิบัติแต่ละขั้นตอนตามความเหมาะสมแต่ความจริงแล้วตามวิถีชาวฮินดูนั้น การสวดบูชาเทพจะมีรายละเอียดและขั้นตอนมากมายกว่านี้ครับที่เราตัดทอนมานี้ก็เพื่อความสะดวกและเข้ากับยุคสมัยที่เร่งรีบที่สำคัญให้ใส่ใจมากกว่า คือ ควรตั้งจิตให้เป็นสมาธิในขณะสวดบูชา และควรปฏิบัติให้ได้ทุกวัน จะเป็นสิริมงคลมากครับท่านใดที่ไม่สามารถจัดหาเครื่องสังเวยต่างๆ ได้ติดต่อกันทุกๆวัน เช่น ขนม หรือผลไม้ ก็สามารถถวายน้ำเปล่าอย่างเดียวและจุดเทียนก็ได้ครับ องค์ท่านโปรดให้บูชาตามแต่กำลังทรัพย์และฐานะของผู้ศรัทธา (และตามแนวทางของเว็บไซต์สยามคเณศ ที่ไม่ส่งเสริมให้บูชาแบบฟุ่มเฟือย)
อาจจะเลือกถวายขนมกับผลไม้ให้หลากหลายสัปดาห์ละ 1 ครั้ง หรือถวายของบูชาครั้งใหญ่ๆ ในวันที่ตรงกับวันเกิดของตน แต่หากท่านใดสามารถจัดหาของบูชาได้มากๆ มีขนมหลากหลาย ผลไม้มากอย่าง ได้เป็นประจำ ก็ย่อมเป็นการดีอยู่แล้วครับ
จะบูชาอย่างไรก็ตาม หลักสำคัญคือ ขณะสวดบูชาให้ตั้งสติให้แน่วแน่ สร้างบรรยากาศให้เกิดสมาธิ สวดมนต์ให้ถูกต้อง บูชาด้วยใจที่บริสุทธิ์ ไม่ขอพรด้วยความโลภ ไม่ขอพรที่มีการสาบแช่งผู้อื่น ไม่ขอพรด้วยความท้าทาย หากปฏิบัติขั้นตอนใดผิดพลาดก็ให้ขอขมา บารมีขององค์ท่านก็คุ้มครองเราได้เท่าๆกันครับ



ความรู้เพิ่มเติม เรื่องการบูชาเทพ

เรื่องธูปและกำยานการจุด ธูป หรือ กำยาน มีวัตถุประสงค์เพียง 2 อย่างเท่านั้น คือ- ถวายกลิ่นหอมแก่เทพ- ให้ควันธูปหรือกำยาน เป็นสื่อนำคำอธิษฐานเราไปสู่เทพมีความหมายเพียงเท่านี้นะครับ ไม่เกี่ยวว่าต้องใช้กี่ดอก? หรือต้องปักแบบไหน?คนไทยเข้าใจผิดกันเยอะครับ เกี่ยวกับการจุดธูปสมัยโบราณนานมา ไม่มีการกำหนดหรอกครับว่าต้องใช้กี่ดอกมีแต่คนรุ่นหลังเท่านั้นที่กำหนดกันว่าเทพองค์นี้ต้องจำนวนธูปเท่านี้..บางคนบอกว่าต้องปัก..ต้องวาง..ต้องปักเป็นวงกลม...ต้องเรียง ฯลฯ ขอจงอย่าซีเรียสเรื่องพวกนี้ครับ และถ้าใช้ธูปเยอะไปก็ไม่ดีหรอกครับ เปลืองเงินและเปลืองทรัพยากรธรรมชาติอีกต่างหาก
เป็นเรื่องตลกที่เราจะเห็นกันว่า วัด ศาล เทวาลัย แต่ละแห่ง จะบอกให้จุดจำนวนธูปไม่เท่ากัน ทั้งๆที่ข้างในก็ประดิษฐานเทพองค์เดียวกัน พระพิฆเนศ ก็พระพิฆเนศเดียวกันทั้งโลก ไม่ได้มีหลายพระพิฆเนศซะหน่อยครับ คนอินเดียมาเที่ยวเมืองไทยยังสงสัยกันเลยครับ ว่าที่คุณๆไหว้กันนั้น ไม่ใช่พระพิฆเนศองค์เดียวกันหรอกหรือ? เหตุใดจึงต้องใช้ธูปแต่ละที่จำนวนไม่เท่ากัน?? ทำไมที่นี่ต้องเดินวนซ้าย แต่ศาลพระพิฆเนศอีกแห่งต้องเดินวนขวา? ทำไมต้องใช้ธูปแดง? ธูปขาวธรรมดาไม่ได้หรือ? ทำไมพระพิฆเนศที่นี่ต้องเทียนขาว? แต่ทำไมอีกที่ต้องเทียนแดง? สุดท้าย..คนไทยเราก็โดนเยาะเย้ยจากต่างชาติ ว่าบูชาเทพให้เป็นเพียงวัตถุ ไม่ได้เข้าถึงหัวใจหลักแห่งการบูชาเทพเลย...
เพราะชาวฮินดูในอินเดียจริงๆ แล้วจะไม่มีการกำหนดจำนวนธูป เทียน และกำยานมาตั้งแต่โบราณ ไม่มีการกำหนดสีสันและขนาดด้วยครับ เค้าหยิบออกจากซอง ได้มากี่ดอก ก็จุดเลยครับ ไม่มีการนับ เนื่องจากเหตุผลในการจุดธูปก็คือ 1.ถวายกลิ่นหอม และ 2.ให้ควันนำพาคำอธิษฐานไปถึงเทพเบื้องบนเท่านั้นเอง... ขอให้เข้าใจตามนี้นะครับ (แต่ถ้าให้สบายใจ ใช้ธูป 3, 5, 9 ดอกแบบคนไทยหรือคนจีนก็ได้ครับ) และขอยืนยันว่า สามารถใช้ได้ทั้ง ธูป และ กำยานถ้าอยู่ห้องเล็กๆ หรืออยู่ร่วมกับคนอื่น หรือไปค้างแรมที่อื่น การจุดธูปเทียนจะทำให้ควันธูปรบกวนคนรอบข้าง หรือเสี่ยงต่อไฟไหม้ ก็ไม่ต้องจุดเลยครับ โดนด่าซะเปล่าๆ




เรื่องการถวายเครื่องเซ่นสังเวยการถวายของนั้น ถ้าถวายได้เป็นประจำ และฐานะเอื้ออำนวย ก็เป็นสิริมงคลครับแต่จะเกิดคำถามบ่อยๆว่า...ถ้าไม่มีทุนทรัพย์มากพอ จะถวายแต่เพียงเล็กน้อยได้หรือไม่??คำตอบคือ ย่อมได้แน่นอนครับ!! เราไม่จำเป็นต้องถวายผลไม้ อาหาร ขนม เป็นประจำทุกวัน เพราะจะทำให้สิ้นเปลืองมากเกินไป ควรเลือกถวายให้ประหยัดดีกว่าครับ ถวายน้ำเปล่าเฉยๆก็ได้ จะเป็นส้มผลเดียว กล้วยผลเดียวก็ได้ครับ ถ้าถวายเป็นประจำ แต่ละครั้งก็ไม่ต้องใช้ของแพงครับ แค่ใช้ของใหม่ สะอาด หรืออยากจะจัดถวายให้สมบูรณ์ ก็จัดสัปดาห์ละ 1 ครั้งก็พอแล้วทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า ให้ถวายตามมีตามเกิด หรือขาดๆ หายๆ นะครับการถวายแต่ละครั้งก็ควรตั้งใจ สรรหาของที่สด สะอาด ใหม่ มีคุณภาพ


คนไทยเรายึดติดกับการถวายของ คือ ถวายเยอะๆ ได้บุญเยอะๆ แบบนี้ไม่ถูกครับ พระพิฆเนศและเหล่าทวยเทพ ไม่โปรดให้ผู้ศรัทธาทำการบูชาท่านแบบฟุ่มเฟือย เนื่องจากพระพรหม พระวิษณุ พระศิวะ ท่านเหล่านี้ปฏิบัติตนเป็นโยคี หลุดพ้นไปสู่โมกษธรรมแล้ว ท่านไม่มีกิเลสต้องการรับประทานของเซ่นจากเราหรอกครับ การถวายเครื่องเซ่นสังเวย เช่น ผลไม้ น้ำ นม ขนม ดอกไม้ ธูป เทียน ฯลฯ ก็เพื่อแสดงให้พระองค์เห็นถึงความศรัทธาของเราที่มีต่อพระองค์ แสดงให้เห็นถึงความจงรักภักดีที่มีต่อพระองค์ฉะนั้นอย่าไปยึดติดกับกฏเกณฑ์มากครับ จะเครียดเปล่าๆ หากมีความศรัทธาอย่างเต็มเปี่ยมและเคารพรักในเทพที่เราบูชาแล้ว เพียงยกมือไหว้ สวดมนต์ สรรเสริญท่านอย่างสม่ำเสมอ และขอพร พระองค์ท่านก็เมตตาเราแล้วครับ


ขอเล่าให้ฟังเพิ่มเติมว่าคณะพราหมณ์ และทีมงานเว็บสยามคเณศทุกคน จะสวดบูชาพระพิฆเนศอย่างลึกซึ้งและตลอดเวลาทีเดียวครับ หมายความว่า เวลาจะทานข้าวก็ระลึกถึงท่าน เวลาจะเดินทางไปไหน ขณะทำงาน ขณะพักผ่อน เวลาตื่น เวลานอน เวลาอาบน้ำ เราทุกคนก็ภาวนาถึงพระองค์ท่าน บอกเล่าเรื่องราวที่เราพบเจอในแต่ละวันให้ท่านฟัง และขอพรท่านอยู่บ่อยๆ แม้จะสัมฤทธิ์ผลหรือไม่ก็จะตอบแทนท่านด้วยการสวดมนต์และ ถวายนม ขนมต่างๆ (ขนมที่ถวายแล้วเราก็นำมาทาน ถือเป็นอาหารทิพย์อีกด้วย) และนำเงินที่เราหามาได้ แบ่งไปทำบุญตามวัดเพื่อมอบความเมตตาแก่ผู้อื่น เมื่อเราเดินทางไปไหน ถ้าพบเห็นขนม ผลไม้ ดูน่าทานน่าอร่อย เราก็จะซื้อติดไม้ติดมือมาถวายท่านที่หิ้งพระบ่อยๆ เพราะเราทุกคนบูชาและศรัทธาพระพิฆเนศเปรียบเสมือนญาติผู้ใหญ่ที่เราเคารพรัก
ผู้ศรัทธาพระพิฆเนศจำนวนมาก ก็ไม่ได้มีเทวรูปขนาดใหญ่ไว้ในบ้าน ส่วนใหญ่ก็มีแต่พระพิฆเนศแบบห้อยคอแค่องค์เดียว แต่เขาเหล่านั้นก็ทำการสวดมนต์ ถวายของ และทำสมาธิอย่างสม่ำเสมอ พวกเขาก็ได้รับพรบันดาลจากพระองค์ ให้ประสบความสำเร็จและมีความสุขกันได้อย่างสมบูรณ์ครับ


เราไม่ได้บูชาพระพิฆเนศด้วยความกลัว ความขลัง หรือด้วยความอยากขอพร ขอหวยเพียงอย่างเดียว และเราไม่ได้มองว่าท่านเป็น "เจ้าพ่อพิฆเนศ" หรือ "พ่อปู่" อะไรต่างๆแบบที่คนไทยหลายคนชอบเรียก (พระพิฆเนศไม่ได้เป็นคนแก่นะครับ!!) แต่ท่านเปรียบเสมือน "ญาติผู้ใหญ่" ท่านคือเทพผู้ศักดิ์สิทธิ์ที่เราทุกคนสามารถเข้าถึงและใกล้ชิดได้ไม่ยากเลย (ไม่ใช่เจ้าพ่อ หรือเป็นผี) ฉะนั้น การสวดบูชาท่าน ก็ไม่ต้องเกรง ไม่ต้องกลัวนะครับ สวดทุกครั้งที่มีโอกาส แล้วท่านจะบันดาลพรและปกป้องเราในยามคับขันอย่างแน่นอน ซึ่งทีมงานเราทุกคนพิสูจน์มาแล้วครับ
จะเห็นว่าแนวทางของเราต่างจากการไหว้พระแบบคนไทยทั่วๆไปนะครับ เพราะเรายึดตามแนวทางของชาวฮินดูอย่างแท้จริง ชาวฮินดูในอินเดียแทบจะทุกคนบูชาเทพที่ตนนับถือด้วยความรักและซื่อสัตย์ ไม่ได้ไหว้ที่องค์วัตถุ ไม่ได้ไหว้เฉพาะเทวรูปขนาดใหญ่ๆ และชาวอินเดียจำนวนมากก็ไม่มีพระพิฆเนศห้อยคอ เพราะเค้าไม่ได้คิดว่าพระพิฆเนศเป็นเพียงแค่วัตถุมงคล ที่จะมานำติดตัวไว้เฉยๆ หรือเป็นเทพเจ้าที่เราจะไหว้เพื่อขอพรอย่างเดียว แต่เทพทุกพระองค์จะถูกระลึกอยู่ภายในจิตใจ ภายในจิตวิญญาณอยู่ตลอดเวลา และเชื่อว่าเทพทุกพระองค์คือผู้ประทานชีวิตอันมีค่าแก่เรา สำหรับเรื่ององค์เทวรูป และพิธีกรรมต่างๆก็เป็นเรื่องรองๆไปครับ ถ้าเราหมั่นบูชาท่านและทำความดีอย่างสม่ำเสมอ ท่านจะประทานพรให้เราประสบความสำเร็จ เดินไปสู่ทางที่ดีงาม เกิดสิริมงคลแก่ชีวิตและประสบแต่ความโชคดีครับพวกเราผู้ศรัทธาไม่ใช่คนงมงาย แต่เรามีที่ยึดเหนี่ยวจิตใจเดียวกัน คือ องค์พระพิฆเนศ และองค์เทพต่างๆ ซึ่งก็ไม่ต่างจากพระแม่กวนอิม พระสีวลี หรือเทพเจ้า เทวดา ที่หลายๆคนนับถือเพิ่มเติมจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ทีมงานสยามคเณศหวังว่า ผู้อ่านทุกท่านจะพอเข้าใจและมีแนวทางการบูชาพระพิฆเนศและทวยเทพที่ชัดเจนขึ้นนะครับ สรุปแล้ว สิ่งที่ควรกระทำคือ การตั้งจิตให้แน่วแน่ในการสวดบูชา พร้อมทั้งให้ปรับจิตใจของเราให้มีความ รัก และ ศรัทธา พระพิฆเนศและทวยเทพอย่างเต็มเปี่ยม เคารพองค์ท่านไม่ว่าจะอยู่ที่ใด ระลึกถึงองค์ท่านเสมอ มีความเมตตาต่อผู้อื่นและสำนึกดีอยู่ตลอดเวลา ถ้าทำได้อย่างนี้ พระองค์ท่านก็เมตตาเรา ประทานพรให้เราได้เต็มที่ครับ (วิถีแบบนี้ เป็นวิถีของชาวพราหมณ์-ฮินดูในอินเดียที่แท้จริง และสามารถใช้ได้กับการบูชาเทพทุกองค์)
ขอให้หมั่นไหว้พระพิฆเนศทุกวัน ทุกคืนนะครับ สำหรับคำสอนขององค์เทพ เช่น คัมภีร์ภควัทคีตา จะแปลและนำมาเผยแพร่ในเว็บนี้ต่อไป และถ้าจะช่วยกันเผยแพร่พระพิฆเนศและเทพของพราหมณ์ ไปสู่ผู้อื่นในแนวทางที่ถูกต้อง ก็จะเป็นกุศลแก่ตัวเราเองครับ ตั้งแต่นี้ต่อไป หากผู้อ่านได้ไปพบเห็นใครที่กล่าววาจาดูถูก หรือลบหลู่ดูหมิ่น ทั้งดูถูกองค์เทพของพราหมณ์ และดูถูกพวกเราที่บูชาพระองค์ ก็ขอให้อธิบายให้เขาเหล่านั้นเกิดความเข้าใจว่า เทพของศาสนาพราหมณ์-ฮินดูนั้นไม่ได้เลวร้าย ไม่ใช่เจ้าพ่อ ไม่ใช่ผี ไม่มาประทับทรงใคร คนบูชาอย่างเราๆก็ไม่ได้เลวร้ายหรือเป็นคนชั่ว คนที่ชั่วร้ายคือคนที่นำไปเผยแพร่และปฏิบัติไปในทางที่ไม่ถูกต้องมากกว่า... ขอให้ช่วยๆกันนะครับ เพื่อยกระดับการบูชาเทพในประเทศไทยให้ดียิ่งขึ้น... ขอพระพิฆเนศคุ้มครองผู้ศรัทธาครับ



วิธีการเลือกซื้อ-เช่า-จัดหา-บูชาองค์พระพิฆเนศ

วัสดุที่ใช้ผลิตองค์พระ
ไม่ว่าจะเป็นองค์พระแบบเหรียญห้อยคอ แบบลอยองค์ หรือแบบตั้งโต๊ะ จะขนาดเล็กหรือใหญ่ก็ตาม ควรผลิตมาจากวัสดุธรรมชาติ เช่น แกะสลักจากไม้ หินทราย ปั้นจากดิน ผงสมุนไพร ว่าน เซรามิก แก้ว ตลอดจนโลหะต่างๆ เช่น สำริด ทองเหลือง ทองชมพู ดีบุก เงิน ทองคำ นวโลหะ ฯลฯแต่ในกรณีที่องค์พระมีราคาแพง (เช่น ทองคำ เงิน อัญมณี ฯลฯ) หรือท่านที่มีทุนทรัพย์ไม่มากพอ ก็แนะนำให้เลือกบูชาองค์พระที่ผลิตจากวัสดุสังเคราะห์ (พลาสติก ไฟเบอร์กลาส เรซิ่น ฯลฯ) ก็ได้เช่นกันมีข้อห้ามเด็ดขาดคือ ห้ามเลือกบูชาองค์พระที่ได้มาจากการเบียดเบียนสิ่งมีชีวิต เช่น พระพิฆเนศแบบงาช้างแกะสลัก (ซึ่งต้องตัดงาของช้างมาผลิต) กระดูกสัตว์บด หรือทำจากกระดูก-หนังวัว-เขี้ยว ฯลฯ หรือมวลสารที่ได้มาด้วยความมิชอบ แต่หากท่านได้มาแล้วด้วยการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือด้วยวิธีใดก็ตาม ก็ไม่ควรนำไปทิ้ง แต่ให้เก็บรักษาเอาไว้โดยไม่ห้อยคอ







ปลุกเสก-ไม่ปลุกเสก???

การจะเลือกเช่าบูชาเทวรูปทั้งหมดในศาสนาพราหมณ์นั้น ผู้บูชาจะจัดหามาโดยจะเลือกที่ผ่านพิธีเบิกเนตร หรือไม่เบิกเนตรมาก็ได้ เนื่องจากในอินเดียนั้นก็ไม่มีข้อห้ามใดๆ เพียงแต่เพื่อความสบายใจแล้ว ผู้คนก็นิยมเลือกบูชาแต่องค์พระ ที่ผ่านพิธีกรรมปลุกเสกมาแล้วทั้งสิ้นทั้งนี้ องค์พระ-วัตถุมงคล-เทวรูป ที่ผู้บูชาเลือกเช่ามานั้น จะผ่านการปลุกเสกเบิกเนตรมาหรือไม่ ความจริงเราก็ไม่สามารถแยกออกด้วยตาเปล่า หรือการสัมผัสด้วยมือ หรือแม้แต่สัมผัสด้วยจิตได้เลย

ในบางครั้ง ผู้บูชาอาจจะถูกหลอกให้เช่าพระราคาแพง ที่อ้างว่าปลุกเสกมาแล้ว แต่ในความเป็นจริงไม่ได้ปลุกเสกมาเลยก็เป็นได้ ผู้เขียนจึงย้ำผู้ศรัทธาทุกท่านเสมอว่า ให้บูชาตามกำลังทรัพย์ของตน โดยเน้นไปที่การสวดมนต์และจัดถวายของจะดีกว่าแต่หากท่านต้องการความสบายใจ โดยจะบูชาองค์พระที่ผ่านพิธีกรรมเบิกเนตรปลุกเสกมาแล้ว ก็ควรดูจากพิธีกรรมที่มีความชัดเจน ประธานจัดสร้างและพระสงฆ์ที่ปลุกเสกควรมีความน่าเชื่อถือ (แท้ที่จริงต้องเป็นคณะพราหมณ์ มิใช่พระสงฆ์) พิธีกรรมควรมีวัตถุประสงค์ในการจัดสร้างที่แน่นอนและเปิดเผย หรือหากในพิธีมีคณะพราหมณ์มาทำหน้าที่อัญเชิญเทพก็จะสมบูรณ์กว่าสถานที่ปลุกเสก-เบิกเนตร ในประเทศไทยผู้ที่ต้องการนำพระพิฆเนศไปปลุกเสกเอง ให้นำองค์พระของตน ไปเข้าร่วมพิธีกรรมทางศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เช่น ในวันคเณศจตุรถี ถือเป็นวันสำคัญทางศาสนาฮินดู จะมีการทำพิธีที่วัดหลายๆแห่งทั่วประเทศ โดยเฉพาะที่วัดแขกสีลม เพียงท่านนำพระติดตัวไปด้วย เมื่อเข้าไปในพิธีก็นำองค์พระของท่าน ยกขึ้นจรดหน้าผาก หรือชูขึ้นเหนือหัว ตั้งจิตอธิษฐานขอให้บารมีของเทพมาสถิตอยู่ ณ องค์พระของท่าน เท่านี้ก็เสร็จสิ้นการเชิญบารมีองค์พระด้วยตนเองหรือหากยังไม่มั่นใจ สามารถไปที่เทวสถานโบสถ์พราหมณ์-เสาชิงช้า แล้วเข้าไปขออนุญาตกับคณะพราหมณ์ข้างใน ว่าอยากให้เบิกเนตรองค์พระให้ ท่านก็จะได้องค์พระที่เบิกเนตรอย่างถูกต้อง โดยไม่ต้องไปเสียเงินเช่าพระที่ปลุกเสกมาในราคาแพง

****ทุกครั้งที่นำพระไปเบิกเนตร แนะนำให้บริจาคเงินให้โบสถ์พราหมณ์ด้วย เพียงเล็กน้อยก็ได้ตามกำลังศรัทธา เพื่อเป็นค่าบำรุงเทวสถาน




องค์พระที่แตกหัก-เสียหาย...ห้ามทิ้ง!!
เทวรูป-องค์พระที่ท่านได้มานั้น หากเกิดการแตกหักเสียหายเช่น พระกร (มือ) แตกหัก หรือศาสตราวุธหลุด-บิดเบี้ยว แม้แต่เศียร (หัว) ขาด ก็ไม่ควรนำไปทิ้ง หรือมอบให้ผู้อื่นด้วยความที่ตนเองไม่อยากได้แล้ว ควรซ่อมแซมก่อน เช่น ถ้าติดกาวได้ก็ควรทำ หรือถ้าซ่อมไม่เป็นก็ให้เก็บรักษาไว้ ถ้าเห็นแล้วเกิดความไม่สบายใจก็เก็บใส่กล่องแล้วเก็บไว้ที่สูงก็ได้
การเก็บองค์พระที่เสียหายไว้นั้น ไม่ก่อให้เกิดอาบัติเภทภัยใดๆ ไม่ก่อให้เกิดโชคร้ายดังที่เข้าใจกัน ในทางกลับกัน ยังเป็นการแสดงตนให้พระท่านเห็นว่า แม้ว่าองค์พระจะอยู่ในสภาพใดก็ตาม ท่านก็ยังมีความศรัทธาและพร้อมจะเก็บรักษาไว้เสมือนสมบัติล้ำค่า องค์พระที่ตกแตกกระจัดกระจายหรือแม้จะถูกทำลายจนป่นเป็นผง ก็ให้รวบรวมบรรจุใส่กล่อง กระถาง หรือขวดโหล แล้วตั้งไว้ที่เดิมที่ท่านกราบไหว้บูชาตามปกติ หากท่านไม่สนิทใจที่จะตั้งไว้ที่เดิม ก็นำเก็บใส่ลิ้นชักหรือใส่กล่องไว้ที่สูงก็ได้ แต่ห้ามนำไปทิ้งไว้ตามวัดหรือศาลเจ้าที่ข้างทางที่ไม่มีผู้ดูแล (เหมือนที่คนไทยส่วนใหญ่นิยมทำกับพระพุทธรูปที่แตกหักเสียหาย แล้วนำไปทิ้งไว้ที่วัดหรือตามศาลเจ้า) หากจัดหาองค์ใหม่มาประดิษฐานได้ก็ดี แต่ถ้ายังหาไม่ได้ก็กราบไหว้องค์เดิมที่เสียหายไปแล้วก็ไม่เป็นการบาปแต่อย่างใด ไม่ว่าจะเป็นองค์เทวรูปขนาดใหญ่บนโต๊ะหมู่บูชา หรือพระเล็กๆสำหรับห้อยคอก็ให้ปฏิบัติเช่นเดียวกัน สังเกตุได้จากพิพิธภัณฑ์ต่างๆ จะเก็บรักษาเทวรูปเก่าแก่ โดยไม่เลือกว่าสวยงามสมบูรณ์หรือชำรุดแตกหักในเทวสถาน โบสถ์พราหมณ์ จะเห็นองค์พระพิฆเนศองค์หนึ่ง ทำจากหินทราย องค์นี้ งวงหักไปทั้งยวง แต่คณะพราหมณ์ก็นำมาประดิษฐานไว้ให้ผู้ศรัทธาได้สักการะ เทวรูปที่เสียหายองค์นี้ถือเป็นสมบัติล้ำค่าของประเทศ ไม่สามารถประเมินราคาได้แม้ชำรุดจนเห็นได้ชัดเจน และยังคงความศักดิ์สิทธิ์ ประทานพรแก่ผู้ศรัทธามาแล้วนับไม่ถ้วนอีกแง่หนึ่ง แม้ท่านจะได้รับองค์พระหรือเทวรูปที่มีความงดงาม สร้างอย่างพิถีพิถัน ไม่มีตำหนิ ผ่านพิธีกรรมอันยิ่งใหญ่ เช่ามาในราคาแพงมาก หรือเป็นอัญมณีแก้วคริสตัล เพชร หยก มรกตมีค่าปานใด หากท่านไม่มีวินัยในการบูชา สวดมนต์บ้างไม่สวดบ้าง ถวายของตามมีตามเกิด ปล่อยองค์พระให้ฝุ่นจับหนาเตอะโดยไม่ทำความสะอาด อย่างนี้ก็ไม่เกิดมงคล การบูชาก็ล้มเหลว นอกจากพระพิฆเนศจะไม่ประทานพรแก่ท่านแล้ว อาจจะลงโทษตัวท่านเองก็เป็นได้

1 ความคิดเห็น:

  1. เห็นด้วยครับ การที่เราบูชาพระพิฆเนศ จะปลุกเสกหรือไม่ ผมว่าศักดิ์สิทธ์เหมือนกันครับ

    ตอบลบ